Home
หน้าแรก
Downloads
ดาวน์โหลด
Forums
กระดานข่าวชาวเพลิน
Your Account
สำหรับสมาชิก
Your Account
การเรียนการสอน: เพลินอ่าน
ช่วงชั้นที่ ๒
เพลินอ่าน ตอน ครั้งแรกของช่วงชั้น ๒ กับประเด็นการสร้างเด็กให้รักอ่าน
 


What: การกระตุ้นให้เด็กๆ นำหนังสือมาอ่านที่โรงเรียน เป็นประเด็นตั้งต้นของครูม่อน ครูนัท และครูนุ่น

 

Why: เด็กจำนวนน้อยมากที่จะรักการอ่านโดยไม่มีการกระตุ้นจากครู พ่อแม่ หรือ บรรยากาศที่เอื้อต่อการอ่าน

 

How: ครูจะกระตุ้นให้เด็กๆ นำหนังสือมาอ่านที่โรงเรียนได้อย่างไร

 
     ลองมาดูกันว่าคุณครูครูม่อน – สาวิณี จิรประเสริฐกุล คุณครูนัท – นันทกานต์ อัศวตั้งตระกูลดี และ คุณครูนุ่น - พรพิมล เกษมโอภาส จะมีวิธีการอย่างไรในการกระตุ้นให้เด็กๆ นำหนังสือมาอ่านที่โรงเรียนกัน
 
 
  ครูม่อน - สาวิณี แลกเปลี่ยนให้กลุ่มฟังว่า ในช่วงแรกของการเริ่มโครงการฯ นักเรียนช่วงชั้นที่ ๒ ยังอ่านหนังสือกันไม่มากนัก จึงพยายามหาวิธีกระตุ้นให้เด็กๆ ชั้น ๔นำหนังสือมาอ่านที่โรงเรียน เวลามีหนังสือใหม่ๆ มา ครูม่อนก็จะใช้เวลาช่วงพักกลางวันแนะนำหนังสือใหม่ เช่น เวลามีหนังสือเรื่องตะลุยโจทย์คณิตศาสตร์มาก็พูดว่า ครูม่อนชอบเรื่องนี้มากเลย ใครเป็นคนเอามา และชักชวนเด็กคนอื่นๆ ว่าเรื่องที่นำมามีความน่าสนใจมาก คนที่นำหนังสือมาก็รู้สึกภูมิใจที่ครูสนใจในหนังสือของเขา และยังได้เผยแพร่ให้เพื่อนๆ ได้อ่านด้วย พอกระตุ้นด้วยวิธีนี้แล้วทำให้ได้หนังสือที่นำมาเวียนกันอ่านเพิ่มขึ้นมาก
     
     
     หลังจากนั้นเวลามีหนังสือมาครูม่อนก็จะเปิดอ่านคร่าวๆ และดึงประโยคดีๆ และทิ้งท้ายไว้ให้เด็กๆ สนใจ เช่น เมื่อดีจังนำหนังสือเรื่องเกี่ยวกับระบบสุริยะจักรวาลมา แล้วมีการเขียนว่าดาวอะไรเปรียบเสมือนเป็นเพื่อนของโลก ครูม่อนก็ใช้ประโยคนี้มาเป็นคำถามให้กับเด็กๆ คนอื่นๆ ว่า ใครอยากรู้ว่าเพื่อนของโลกคืออะไร ลองไปอ่านหนังสือที่ดีจังเอามาสิ แล้วจะรู้คำตอบ ก็จะเห็นได้ชัดว่าเด็กเริ่มอ่านหนังสือกันมากขึ้น
 
     พอมาช่วงหลังๆ เด็กสนใจที่จะอ่านหนังสือเกี่ยวกับตำนานผีญี่ปุ่น ที่มีลักษณะเป็นเรื่องเล่า ที่บางเล่มอ่านกันจนหนังสือเริ่มขาด ครูม่อนก็ให้ช่วยกันดูแล ซ่อมแซมหนังสือให้ดี
 
     ปัจจุบันนี้ ก็ยังมีเด็กมาอ่านหนังสือในช่วงเช้า กลางวัน และตอนเย็น และจะมีประมาณ ๕ - ๖ คนที่อ่านอย่างสม่ำเสมอ คนอื่นๆ ก็อ่านบ้าง
 
     กิจกรรมแลกเปลี่ยนหนังสือกันอ่าน ไม่ได้มีการกำหนดรอบของระยะเวลาที่แน่นอน แต่สังเกตว่าเมื่อใดที่ครูกระตุ้น ด้วยการแนะนำหนังสือ ก็จะมีหนังสือใหม่ๆ มาเปลี่ยนที่ชั้น
 
Key Success Factor ที่สำคัญของกิจกรรมนี้คือ ครูต้องกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง และทิ้งคำถามที่น่าสนใจไว้ให้ติดตามอ่าน
 
     สิ่งที่ครูม่อนจะทำต่อ คือ ยกประเด็นเรื่องที่เด็กกำลังสนใจมาพูดคุยกับเด็ก เช่น เรื่องที่....เอามาเยี่ยมมากเลยนะ ใครมีหนังสือที่มีเนื้อหาคล้ายแบบนี้บ้างไหม เอามาอ่านที่โรงเรียนกัน
 
 
  ครูนัท – นันทกานต์ เล่าว่านักเรียนชั้น ๕ โดยภาพรวมมีพื้นฐานที่ชอบอ่านหนังสือ เด็กผู้หญิงก็ชอบอ่านเรื่องรักสดใส ส่วนเด็กผู้ชายอ่านหนังสือแนวต่อสู้ ขอบเขตของการอ่านหนังสือยังแคบอยู่ ดังนั้น ครูชั้น ๕ จึงมีการมาแนะนำหนังสือให้เด็กอ่าน และมีการจับประเด็นต่างๆ ในการอ่านด้วย และพยายามชวนเด็กๆ มาอ่านหนังสือดีๆ
     
     
     หลังจากแนะนำ พบว่า เด็กเริ่มนำหนังสือดีๆ มาอ่านกันมากขึ้น เด็กไม่ได้อ่านแค่เอาเนื้อเรื่อง แต่อ่านเพื่อจับประเด็นดีๆ และดูว่าจะนำเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ต่อจากนั้น ก็มาแลกเปลี่ยนกันในวงใหญ่
 
     ในช่วงแรกๆ ก็มีการนำเกมรักการอ่านมาเล่น ดึงดูดให้อ่านโดยนำเรื่อง Harry Potter มาใช้ในเกม มีเด็กบอกว่าไม่เห็นอยากอ่านเลย แต่ครูนัทก็ลองยืมหนังสือ Harry Potter มาไว้ที่ห้องดู ปรากฏว่าเด็กคนที่พูดว่าไม่เห็นอยากอ่านเลย กลับมาหยิบหนังสือ Harry Potter ไปอ่าน แต่ครูนัทก็ยังรู้สึกว่าการทำกระบวนการรักการอ่านของชั้น ๕ นั้นยังไม่ค่อยต่อเนื่องนัก
 
     นอกจากครูนัทจะไปยืมหนังสือจากห้องสมุดมาไว้ที่ห้องแล้ว บางทีก็ให้เด็กเลือกเอง ระยะหลังอยากให้เด็กได้อ่านหนังสือดีๆ ครูนัทจึงไปเลือกหนังสือเอง การแนะนำหนังสือนั้น ครูนัทใช้วิธีเดียวกับครูม่อนคือ ประชาสัมพันธ์ด้วยการนำข้อความดีๆ ในหนังสือมาอ่านให้เด็กฟัง และกระตุ้นด้วยคำถาม พอถึงตอนกลางวันก็มีเด็กไปหยิบหนังสือที่ครูนัทแนะนำมาอ่าน
 
     ครูนัทสังเกตเห็นว่าเด็กชอบเห็นชั้นหนังสือของห้องตัวเองมีหนังสือมาวางเยอะๆ พอชวนให้เอาหนังสือมาก็มีการพูดแลกเปลี่ยนกันว่า ใครนำหนังสือเล่มไหนมา
 
 
  ครูนุ่น – พรพิมล เริ่มจากการใช้เกม Harry Potter มาสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ชั้น ๖ เพราะเด็กส่วนใหญ่ชอบเรื่อง Harry Potter ต่อจากนั้น ก็สะท้อนปัญหาจริงๆ ที่เกิดขึ้นกับการเขียนของเด็กชั้น ๖ ว่า มักจะใช้ภาษาพูดมาเขียนบรรยายในวิชาประยุกต์ เนื่องจากเด็กๆ อ่านแต่หนังสือที่ไม่ใช่ความเรียง ดังนั้น ครูนุ่นจึงอยากชวนเด็กๆ มาอ่านหนังสือที่มีการใช้ถ้อยคำที่เป็นความเรียงมากขึ้น
     
     
     ครูนุ่นกระตุ้นด้วยการเล่าถึงหนังสือดีๆ ที่ได้อ่านมาแลกเปลี่ยนให้กับเด็กๆ ฟัง เช่น เรื่องความสุขของกะทิ โชคดีที่ภูอินทร์เคยอ่าน ครูนุ่นจึงผลักดันให้ภูอินทร์เล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนๆ ก็รู้สึกทึ่งว่าภูอินทร์จะอ่านและตอบคำถามจากเรื่องนี้ได้ดีมาก พอทำกิจกรรมนี้ไปแล้ว ก็พบว่ามีเด็กกระตือรือร้นที่จะอ่านมากขึ้น
 
     ปีบเป็นเด็กอีกคนหนึ่งที่ทั้งคุณพ่อและคุณแม่รักการอ่านมาก และที่บ้านก็มีหนังสือเยอะมาก แต่ปีบก็ไม่ได้อยากที่จะอ่านเลย ก่อนหน้านี้ครูให้ปีบนำหนังสือมา ปีบก็เอามาหลายเล่ม แต่ก็เอามาเพราะทำตามหน้าที่เท่านั้น แต่หลังจากที่ได้ทำกิจกรรมนี้แล้วปีบก็ให้ความสนใจกับการอ่านหนังสือมากขึ้นมากขึ้น
 
     มัดหมี่ก็เป็นเด็กอีกคนหนึ่งที่อ่านหนังสือมากขึ้นเพราะกิจกรรมนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้อ่านแต่การ์ตูนช่อง ส่วนบิวท์ก่อนหน้านี้ไม่เคยอ่านเลย และขณะนี้ก็ยังอ่านต่อเนื่องอยู่ บิวท์พูดสะท้อนว่า “หนังสือมีอะไรอย่างนี้ด้วยหรือ ไม่เคยคิดมาก่อนเลยนะ” ครูนุ่นเล่าว่าขนาดวันที่มีงานปาร์ตี้ที่โรงเรียนบิวท์ยังหลบมานั่งอ่านหนังสือเลย ส่วนเฟอร์ที่ไม่เคยอ่านหนังสือเลยเลย พอเริ่มอ่านก็มีเรื่องกลับไปถามคุณพ่อคุณแม่บ้างแล้ว ทำให้ครูนุ่นรู้สึกว่าประสบผลสำเร็จดี เพราะเด็กที่ไม่เคยสนใจอ่านหนังสือเลย ก็มาเริ่มหันมาอ่านบ้างแล้ว
 
     วิธีการที่ครูนุ่นใช้ คือ การแนะนำหนังสือประเภทหนังสือแปล วรรณกรรมเยาวชน และพยายามเลือกให้มีความหลากหลาย โดยจะเลือกมาหนึ่งเล่มที่น่าสนใจที่สุดออกมาแนะนำ แล้วบอกกับเด็กๆ ว่า “แต่ครูนุ่นขอไปอ่านก่อนนะ” พออ่านเสร็จมาวางคืนไว้ที่ชั้นหนังสือ แล้วหนังสือเล่มนั้นก็จะมีเด็กมาอ่านต่อ และมารอต่อคิวอ่านอีกหลายคนทีเดียว
 
     ประเด็นที่ครูนุ่นจะทำต่อไปคือ ให้เด็กๆ มาแลกเปลี่ยนกันว่าหลังจากที่หันมาอ่านหนังสือแล้วชีวิตของพวกเขามีอะไรเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างไหม
 
 
เพลินอ่าน ตอน นักเรียนช่วงชั้นที่ ๒ อ่านอะไรในยามว่าง

คุณครูที่เป็นสมาชิกวง “รักการอ่าน” มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอีกครั้ง ด้วยหัวเรื่องชวนติดตาม
 
What: การกระตุ้นให้เด็กๆ เข้าไปเลือกหนังสือในห้องสมุดมาไว้ในห้องเรียนเพื่ออ่านในเวลาว่าง
 
Why: เด็กจะได้เป็นผู้เลือกด้วยตนเอง และหนังสือที่เลือกมาก็จะตรงใจเด็กๆ ทำให้เด็กๆ รู้สึกอยากอ่านมากขึ้น
 
How: ครูนัดเวลาให้มีการหมุนเวียนหนังสือในห้องเรียนใหม่ทุกๆ ๒ สัปดาห์
 
  ครูนัท – นันทกานต์ คุณครูของนักเรียน ชั้น ๕ เริ่มจากการพาเด็กๆ ไปเลือกหนังสือในห้องสมุด พบว่าหลายๆ คนชอบอ่านหนังสือคล้ายๆ กัน แต่เริ่มที่จะคิดถึงเพื่อนคนอื่นๆ ด้วยว่า ถ้ายืมหนังสือมาแล้วจะมีเพื่อนมาอ่านบ้างไหม ตอนนี้เด็กๆ เริ่มสนใจยืมหนังสือที่เป็นซีรี่ย์ที่ต้องอ่านต่อกันหลายๆ เล่ม เช่น อยากให้โลกนี้ไม่มีโชคร้าย แม้หนังสือจะเป็นซีรี่ย์แต่อ่านได้ง่าย ทำให้เพื่อนที่ไม่ค่อยอยากจะอ่านหนังสือเห็นแล้วสงสัย และสนใจอยากจะหยิบมาอ่านบ้าง
     
     
     ครั้งนี้เด็กๆ เลือกหนังสือที่เป็นการ์ตูนช่องน้อยลง ซึ่งครูนัทมองว่าเป็นสัญญาณที่ดี คนที่ไม่ค่อยอ่านหนังสือก็เริ่มมาอ่านหนังสือที่เป็นความเรียง และจะหยิบอ่านเล่มบางๆ มาอ่านก่อน ส่วนคนที่รักการอ่านแล้วก็สามารถเลือกหยิบหนังสือเล่มหนาๆ มาอ่านได้อย่างสบาย
 
 
ครูนุ่น – พรพิมล คุณครูของนักเรียนชั้น ๖ ยังคงไปยืมหนังสือในห้องสมุดมาให้เด็กอ่าน แต่พยายามเลือกหนังสือให้หลากหลายประเภท เช่น หนังสือวรรณกรรมแว่นแก้วที่มีสีสันสดใส หนังสือความเรียง หนังสือแปล หนังสือวิชาการที่มีรูปเล่มที่น่าสนใจ แล้วมาแนะนำให้ลองอ่านกัน เช่น นำเอาคำถามที่เป็นเนื้อหาในหนังสือบางข้อมาลองถามในชั้นเรียน พอเวลาพักกลางวันก็มีนักเรียนผู้หญิงมาเอาหนังสือที่ครูแนะนำไว้ไปอ่านแล้วก็ถามตอบกับเพื่อน ส่วนนักเรียนผู้ชายที่ไม่ชอบอ่านก็ได้รับอานิสงส์จากการฟัง ตรงที่มานั่งตอบคำถามกับเด็กผู้หญิงด้วย
 
 
       
       
     ครูนุ่นเล่าว่าเวลาที่ครูได้อ่านหนังสือเล่มเดียวกับเด็กแล้วความสนุกอยู่ตรงที่ “ฉันอ่าน เธออ่าน” “เธอคิดอย่างนี้ ฉันคิดอย่างนี้” เวลาคุยกันก็จะรู้กันว่าตอนไหนใครชอบ เกิดความรู้สึกร่วมกันได้ง่าย ครูนุ่นยังเสริมว่าเวลาแนะนำหนังสือแนววิชาการจะต้องลองเปิดภาพที่น่าสนใจให้เด็กๆ ดูด้วย บอกว่าเล่มนี้เป็นวิชาการแต่ข้างในมีสีสันน่าสนใจมากเลยนะ แล้วก็ตั้งคำถามกับเด็กด้วย เช่น ชนิดคำมีกี่ชนิด? เด็กก็ตอบไม่ได้ พอตอบไม่ได้ก็ทำให้อยากรู้ พออยากรู้ก็ไปหยิบมาอ่าน
 
 
ครูม่อน – สาวิณี คุณครูของนักเรียนชั้น ๔ บอกว่าตอนนี้ยังไม่ได้ทำอะไรที่คืบหน้าไปจากเดิม แต่พยายามนำคำแนะนำของครูนุ่นกับครูนัทไปปรับใช้กับตัวเองก่อน เพราะโดยพื้นฐานครูม่อนไม่ค่อยได้อ่านหนังสือวรรณกรรม หรือหนังสือความเรียงเท่าไร จะชอบอ่านหนังสือแบบสารคดี เช่น National Geographic ที่เป็นเรื่องๆ ไป และชอบอ่านเกร็ดที่น่าสนใจในหนังสือ อีกอย่างหนังสือประเภทนี้จะมีภาพที่สวย ชวนน่าติดตาม
 
 

     เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตะวันนำหนังสือธรรมะมาจากบ้าน แล้วเห็นว่าไม่มีมีเพื่อนมาหยิบไปอ่านเลย ตะวันเลยเดินมาบอกคุณครูให้ช่วยแนะนำหนังสือให้ด้วย ครูม่อนเลยบอกตะวันว่าเดี๋ยวขอครูลองอ่านดูก่อน เพราะครูม่อนก็อยากลองอ่านหนังสือธรรมะด้วยเหมือนกัน

 
     ในวันนั้นครูม่อนก็ได้แนะนำหนังสือธรรมะของตะวันให้เพื่อนๆ ได้รู้จัก แต่ก็ยังไม่ได้มีเด็กมาสนใจอ่านเท่าไร เพราะเด็กส่วนใหญ่ยังชอบอ่านหนังสือที่มีภาพประกอบ
 
 
 

     หนังสือเล่มหนึ่งที่เป็นที่สนใจในหมู่เด็ก ชั้น ๔ คือ หนังสือ “กบนอกกะลา” ก็มีเด็กบอกว่าเขามีหนังสือด้วยหรือ น่าสนใจดีนะ เคยดูแต่ในทีวี

     ครูม่อนว่าจะลองทำตารางเช็ครายชื่อหนังสือที่เด็กนำมา และหนังสือที่เพื่อนสนใจมาอ่าน หากทำตารางดังกล่าว ครูม่อนจะได้รู้ว่าใครนำหนังสือมาให้เพื่อนอ่านบ่อยๆ และหนังสือแนวไหนที่เป็นหนังสือยอดฮิตของเด็กๆ ส่วนเรื่องที่ครูนัท แลกเปลี่ยนเรื่องพาเด็กไปเลือกหนังสือที่ห้องสมุดเองนั้น ครูม่อนจะลองไปทำดู

     
     
เพลินอ่าน ตอน กิจกรรมสร้างนิสัยรักการอ่านสำหรับครู
 
       ก่อนที่จะมาแลกเปลี่ยนกันครูนุ่นรู้สึกว่ารักการอ่านในห้องเรียนของตัวเองดูไม่ค่อยมีีอะไรคืบหน้าเท่าไร พอคุณครูเล็ก – ณัฐทิพย์ ได้ยินเช่นนี้จึงเตรียมกิจกรรมมาสร้างแรงบันดาลใจในการอ่านให้กับครูช่วงชั้นที่ ๒ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันด้วย
     
     
     กิจกรรมที่ครูเล็กนำมา คือ กลวิธีสร้างนิสัยรักการอ่านที่สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ทรงแนะนำไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “แม่” มาให้คุณครูได้อ่าน
 
วิธีที่ ๑. ใช้เวลาสบายๆ ของครอบครัวเพื่อส่งเสริมการอ่าน
วิธีที่ ๒. เลือกหนังสือดีที่เด็กสนุก
วิธีที่ ๓. ให้เด็กได้รู้เรื่องราวหลากหลายจากพหุวัฒนธรรม
วิธีที่ ๔. มีกิจกรรมพัฒนาทักษะการคิด
วิธีที่ ๕. ใช้ทักษะนาฏการในการเล่า
วิธีที่ ๖. ใช้กิจกรรมศิลปะเชื่อมโยงกับการอ่าน
วิธีที่ ๗. สอนให้รู้จักสกัดความรู้และจับใจความสำคัญ
วิธีที่ ๘. ต่อยอดจากประสบการณ์เดิมของผู้เรียน
วิธีที่ ๙. นำเด็กสู่โลกแห่งวรรณคดี
วิธีที่ ๑๐. พัฒนาทักษะไพรัชภาษาพาสู่โลกกว้าง
 
     โดยครูเล็กตัดกระดาษออกมา ๑๐ แผ่น ที่บอกวิธีการและข้อความในบทพระราชนิพนธ์ที่สนับสนุนวิธีการต่างๆ เช่น “หนังสือธรรมดาๆ ที่น่าเบื่อที่สุดในโลก พอสมเด็จแม่เล่ามันสนุกตื่นเต้น มีรสมีชาติ ขึ้นมาทันที” นำข้อความต่างๆ เหล่านี้ มาวางกระจายไว้บนโต๊ะ ต่อจากนั้น ให้ครูนัท ครูนุ่น และครูม่อนอ่าน แล้วเลือกวิธีการที่เหมาะกับตัวเองที่สุด และเชื่อว่าวิธีการนั้นๆ จะนำเราไปสู่การสร้างนิสัยรักการอ่าน
 
 
 
     
     

ครูนุ่น – พรพิมล เลือกวิธีที่ ๒ ครูนุ่นรักการอ่านเพราะได้เริ่มอ่านหนังสือที่เราชอบ และเล่มที่เราชอบก็นำเราไปสู่เล่มต่อๆ ไปได้ อีกวิธีหนึ่งคือวิธีที่ ๗ เริ่มอ่านหนังสือที่เป็นประโยชน์ อ่านเพื่อจับความ ไม่ใช่แค่อ่านฆ่าเวลา อย่างหนังสือบางเล่มอ่านครั้งแรกได้เรียนรู้แบบหนึ่ง พออ่านครั้งที่สองก็เกิดความเข้าใจและเรียนรู้อีกอย่าง เหมือนเป็นการตีความผ่านประสบการณ์ของตัวเองในขณะนั้นๆ

 
ครูนัท – นันทกานต์ เลือกวิธีการที่ ๒ เหมือนครูนุ่น เวลาครูนัทอ่านเรื่องที่ชอบแล้วจะสามารถจินตนาการและคิดตามได้ นอกจากนี้ ครูนัทยังชอบอ่านเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องที่เราเคยมีประสบการณ์จะรู้สึกเข้าถึงการอ่านมากๆ เหมือนวิธีที่ ๘
 
ครูม่อน – ภาวิณี ยังเลือกไม่ถูกว่าวิธีไหนจะทำให้ครูม่อนรักการอ่าน ปกติครูม่อนมักจะอ่านหนังสือวรรณกรรมไม่จบเล่ม ทั้งๆ ที่ตอนซื้อหรือตอนไปยืมห้องสมุดนั้น รู้สึกอยากอ่านมาก แต่พออ่านได้ครึ่งเล่มก็ไม่อ่านต่อ ครูม่อนบอกว่าชอบอ่านหนังสือที่มีภาพสวยๆ และเป็นสารคดี เช่น National Geography ถ้าหนังสือสารคดีแบบนี้ ครูม่อนสามารถอ่านได้จนจบเล่มอย่างไม่เบื่อ
 
  ครูเล็ก – ณัฐทิพย์ ชอบอ่านหนังสือเพราะหนังสือเปิดโลกกว้างให้กับตัวเองนำเราไปรู้จักรูปแบบวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่หลากหลาย (วิธีที่ ๓) หนังสือเล่มที่อ่านและประทับใจคือ เรื่อง สี่ปีนรกในเขมร จำได้ว่าอ่านตอนเด็กๆ อ่านแล้วเห็นความเป็นไปของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเขมร เห็นภาพของสงคราม ความโหดร้ายที่มนุษย์ทำแก่กัน
     
     
     แต่ภายใต้ความโหดร้ายก็เห็นถึงการช่วยเหลือกันของเพื่อนมนุษย์ที่ไม่แบ่งแยกชนชาติ ในเรื่องนี้คนญี่ปุ่นได้รับการช่วยเหลือจากคนเขมรและได้หลุดพ้นมาจากสงครามอันโหดร้าย ที่สำคัญหนังสือเล่มนี้แต่งขึ้นมาจากเรื่องจริง คนญี่ปุ่นที่รอดมานี้แหละเป็นคนแต่ง เป็นประสบการณ์จริงๆ ของผู้แต่ง
 
     ในตอนท้ายของการแลกเปลี่ยนกัน ครูนุ่นบอกว่าถ้าไม่มีวงแลกเปลี่ยนแบบนี้ก็ไม่ได้มีโอกาสทบทวนว่าเราทำอะไรไปบ้าง ตอนแรกคิดว่าเราทำอยู่คนเดียว มาถึงตอนนี้ก็รู้ว่ายังมีคนที่ทำเหมือนกัน
 
       ในฐานะผู้บันทึก ตอนแรกก็คิดว่าวันนี้จะมีอะไรคืบหน้าบ้างไหม แต่พอมาแลกเปลี่ยนกัน ก็พบว่านี่แหละคือพลังของการแลกเปลี่ยน เพียงแค่เรานำประสบการณ์จริงเพียงเล็กน้อยมาพูดคุยกัน มันก็นำไปสู่การเรียนรู้ของแต่ละคนตามวิถีของการเรียนรู้ร่วมกันแล้ว
     
   
ครูเล็ก – ณัฐทิพย์ วิทยาภรณ์ บันทึก

โดย : ส่วนสื่อสารองค์กร

ติดประกาศ Tuesday 01 Feb 11@ 14:06:03 ICT โดย rawipan_p

 
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
· ข้อมูลเพิ่มเติม ช่วงชั้นที่ ๒
· เสนอข่าวโดย rawipan_p


เรื่องที่นิยมอ่านมากสุด ช่วงชั้นที่ ๒:
การเรียนรู้ที่เริ่มต้นจากฉันทะ



คะแนนของบทความ
คะแนนเฉลี่ย: 0
จำนวนผู้ลงคะแนน: 0

โปรดสละเวลาให้คะแนนสำหรับบทความนี้:

สุดยอด
ดีมาก
ดี
ธรรมดา
แย่



ส่วนเพิ่ม

 หน้าเอกสารสำหรับเครื่องพิมพ์ หน้าเอกสารสำหรับเครื่องพิมพ์



"เพลินอ่าน" | สมัครสมาชิกที่นี่ | 0 ข้อคิดเห็นต่างๆ
ความคิดเห็นที่แสดงนี้เป็นของเป็นของผู้ลงประกาศ. ทางเว็บไซต์ ไม่ขอรับผิดชอบในเนื้อหาเหล่านี้.

ผู้ไม่ลงทะเบียน ไม่มีสิทธิ์แสดงความเห็น , โปรด ลงทะเบียน
พื้นที่เพื่อการประสานงาน และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ดูแลโดย คณะทำงานการสื่อสาร และ เลขาฯ ช่วงชั้น

PHP-Nuke and ThaiNuke Bundle Copyright © 2005 by Francisco Burzi. This is free software, and you may redistribute it under the GPL. PHP-Nuke comes with absolutely no warranty, for details, see the license.
การสร้างหน้าเอกสาร: 0.12 วินาที