ต่อจากตอนที่ ๒ ค่ะ
วิทยากรท่านที่สองของวันนี้ อ.ประพนธ์ ผาสุขยืด เริ่มจากการชวนให้ผู้ฟังทำความเข้าใจในคำว่า “อัจฉริยะ”
- คนอัจฉริยะ คือคนที่ “อ่านตัวเองออก บอกตัวเองได้ ใช้ตัวเองเป็น” รู้จุดแข็ง และความสนใจของตัวเอง
- องค์กรอัจฉริยะ คือองค์กรที่มองเห็นทุนทางปัญญา (IC- Intellectual Capital) ที่องค์กรมีอยู่ สามารถนำ IC ที่องค์กรมีอยู่มาใช้ได้ สร้าง IC ใหม่เป็น มองหาจุดร่วม มองเห็นจุดต่าง เกิดเป็นความรู้ใหม่ และต้องก้าวข้าม KM
คุณลักษณะพื้นฐานขององค์กรอัจฉริยะข้อที่ ๑ Go beyond KM
- มองหาสิ่งที่อยู่ข้างใน ก่อนมองหาสิ่งที่อยู่ข้างนอก
- ทำการจัดการความรู้ทั้ง ๓ ระดับ ทั้งในระดับองค์กร, ระดับกลุ่ม / เครือข่าย, ระดับปัจเจก / ใจ
- KM เชิงองค์กร มีการจัดการความรู้โดยโยงกับยุทธศาสตร์ จัดทำแผนงานด้วยการเริ่มจากจุดที่เป็น focus area และสร้างวิธีการประเมินผลของปฏิบัติการที่เกิดขึ้น
- KM เชิงกลุ่ม / เครือข่าย มีการจัดการความรู้ในระดับความรู้ รวมไปถึงเรื่องของความรู้สึก ด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) พัฒนาคุณอำนวย สร้างกลุ่มนักปฏิบัติที่มีความสนใจร่วมกัน
- KM เชิงปัจเจก / ใจ ที่เน้นการจัดการกับความรู้สึกตัวด้วย โดยเริ่มจากเรื่องที่แต่ละคนมีความสนใจ ร่วมไปกับการใช้สติ ใช้ปัญญา และการศึกษาสิ่งที่กำกับอยู่ในใจ (mindset) เนื่องจากสิ่งที่กำกับอยู่ในใจนี้มีผลต่อการรับรู้สิ่งต่างๆของคนๆนั้น
คุณลักษณะพื้นฐานขององค์กรอัจฉริยะข้อที่ ๒ Go beyond knowledge
ก้าวข้ามตัว Body of knowledge ไม่ติดอยู่เฉพาะตัวความรู้ แต่ต้องมองไปให้เห็นถึงตัวกระบวนการที่ทำให้เราได้รู้ = process of knowing การเปลี่ยนใจคน พลิกความคิด เกิดการรู้แบบผุดบังเกิด เมื่อคนเปิดใจกันก็จะเกิดกลุ่มนักปฏิบัติ = community of practice ที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องเดียวกัน
คนที่เข้ากระบวนการจัดการความรู้ต้องรู้จักที่จะ “เงียบ” เพราะการเงียบจากเสียงที่อยู่ภายในใจจะเป็นประตูสู่การ “รับฟัง” ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนผู้นั้นด้วย
คุณลักษณะพื้นฐานขององค์กรอัจฉริยะข้อที่ ๓ Go beyond management
“Nothing is easier than being busy; nothing is more difficult than being effective”. Alex MacKinsey
ภาวะผู้นำ(ในทุกคน)มีความสำคัญมาก “ภาวะผู้นำเป็นเรื่องที่อยู่ข้างใน ที่ตนเองตั้งใจแล้วว่าจะพาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับเล็กหรือระดับใหญ่ ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงแล้วสื่อสารออกไปให้บุคลากรของตนเข้าใจได้อย่างชัดเจน เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทุกระดับ” Carly Fiorina
คนในองค์กรเห็นการพัฒนาของตัวเอง เห็นการพัฒนาของกลุ่ม เห็นการพัฒนาขององค์กร ด้วยกระบวนการเรียนรู้ และการสื่อสารที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ทั้งบุคคลและองค์กรมีวิสัยทัศน์และแรงปรารถนาร่วม มุ่งเน้นสมรรถนะและผลลัพธ์ที่เกิด และมีการนำข้อมูลย้อนกลับมาใช้ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อยู่เสมอ